วันที่: 22 ก.พ. 2565 14:24:09 แก้ไข: 14 มี.ค. 2565 10:07:17 เปิดอ่าน: 5,485 Blogs
Resilleince คือ อะไร?
ในการทำงานยุคนี้ เราได้ยินคำนี้กันบ่อยๆ ครับ ส่วนใหญ่ก็จะใช้ทับศัพท์ เพื่ออธิบายถึงทักษะในการล้มแล้วต้องลุกให้เร็ว ความหมายตรงตัวของคำนี้ ก็คือ "ความยืดหยุ่น" แต่มันก็ไปพ้องกับ Flexible ที่แปลเหมือนกันว่า ความยืดหยุ่นด้วย
แต่ Resilleince ต่างจาก Flexibility ตรงที่ คำแรกหมายถึงการคืนตัว การฟื้นฟูตัวเอง หลังจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ ส่วนคำหลังออกแนวการปรับตัว เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ครับ
ในการทำงานในยุคนี้ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็ว แต่ธรรมชาติของคน ต้องการสิ่งที่คงที่เพื่อจะได้จัดการได้
เมื่อต้องปรับเปลี่ยนตัวอย่างฉับพลัน ความกดดันจากความล้มเหลวในการปรับตัว และความเครียดจากการทำงานใหม่ๆ จึงเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้เลย และองค์การอนามัยโลก (The World Health Organization) ระบุว่าความเครียด ถือเป็น โรคระบาดแห่งศตวรรตที่ 21 และมันจะนำไปสู่การหมดไฟในการทำงาน (burnout) ได้ด้วย
ดังนั้นการพัฒนาทักษะในการล้มแล้วลุก หรือ การฟื้นตัวให้ได้นี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ในยุคนี้ และคนที่มีกำลังใจฝ่าฟันเท่านั้นที่จะฟื้นตัวจากการล้มเหลว ปรับตัวลุกขึ้นยืน เพื่อก้าวฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ไปสู่โลกยุคใหม่ได้
แล้วต้องพัฒนาด้านไหนบ้าง เพื่อให้เราล้มแล้วลุกได้ไว?
จุดเริ่มต้นสำคัญ ของการพัฒนาทักษะการฟื้นตัวนี้ อยู่ที่ทัศนคติครับ
ทัศนคติ คือ ความคิดที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ดังนั้น เราต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า การฟื้นตัวนี้ไม่ได้ช่วยให้เราไม่ทำสิ่งที่ผิดพลาด แต่เป็นความคิดที่ว่าเราสามารถผิดพลาดได้ แต่ต้องเรียนรู้ให้เร็ว และฝ่าฟันความท้าทายนั้นให้ได้
จากนั้น เราจึงจะพัฒนา resillience ได้ และสามารถกระตุ้นตัวเองให้จัดการความเครียดต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนของโลกยุคนี้ได้ด้วย 5 แนวทางดังนี้
1. ฝึกสมาธิ (Exercise mindfulness)
แต่ในโลกธุรกิจ โดยเฉพาะชาวตะวันตกได้สนใจเรื่องการฝึกจิตใจด้วยการนั่งสมาธิเยอะมาก นักจิตวิทยาสังคมพบว่า สมาธินั่นสามารถทำนายความแม่นยำในการตัดสินใจและแก้ปัญหาได้ และนักประสาทวิทยาด้านการรู้คิด (Cognitive) การมีสมาธิช่วยให้คนเรามีกระบวนการคิดที่ยืดหยุ่นมากขึ้น นอกจากนี้ผลการศึกษาด้านอื่นๆ ยังพบว่าช่วยในเรื่องการพัฒนาผลการทำงาน ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และ ความผูกพันในงานของพนักงานได้ด้วย
2. แบ่งงาน เพื่อลดภาระการทำงานของสมอง (Compartmentalize your cognitive load)
11 ล้าน Bits คือ จำนวนข้อมูลที่เราได้รับในทุกๆ 1 วินาที แต่สมองของเราจะจัดการและประมวลอย่างมีประสิทธิภาพแค่ 40 bits เท่านั้นเองครับ
ดังนั้นสำหรับสิ่งที่รกสมองลดได้ลด แต่ถ้าไม่ได้ทางที่จะบริหารจัดการระบบความคิดได้ก็คือ การแบ่งการคิดออกเป็นส่วนๆ อย่างเหมาะสมขณะทำงาน
การสลับงานไปมาแบบ multi tasking อาจดูเหมือนทำให้เกิดความรวดเร็วในงาน แต่ว่าจริงๆ แล้วมันกินพลังงานสูงมาก บางคนประชุมไป ตอบอีเมล์ ด้วยการคิดว่าตัวเองทำได้ดี แต่จริงๆ แลัวการทำแบบนี้ เป็นการรบกวนการทำงานของสมอง แถมยังลด productivity ในการทำงานลงไปถึง 40% ด้วย จากงานวิจัยของ APA (สมาคมจิตวิทยาอเมริกัน: American Psychological Association)
ดังนั้น ลองฝึกแบ่งงานตาม แล้วจดจ่องานแต่ละชิ้นของเราดูครับ
3. กำหนดให้มีช่วงเวลาพัก Take detachment breaks.
งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า ช่วงเวลาที่คนเราสามารถทำงานติดต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น อยู่ที่ราวๆ 90-120 นาที ดังนั้นการหยุดพักงานแค่ไม่กี่นาที เพื่อเติมพลังเล็กน้อยจะช่วยให้โฟกัสและพลังงานเราฟื้นฟูได้ ก่อนการเริ่มทำงานต่ออีกครั้งครับ
4. พัฒนาความว่องไวทางความคิด Develop mental agility.
ฟังแล้วเหมือนเป็นเรื่องยาก แต่ผมอยากจะบอกว่า เราอยู่ใกล้แนวคิดเรื่องนี้มาก เพราะ มันเป็นเรื่องของการสร้าง "สติ" นั่นเอง
คุณภาพของความว่องไวทางความคิดขึ้นอยู่กับความสามารถที่จะจัดการปัจจัยและสถานการณ์ที่สร้างความเครียดได้ โดยการไม่เอาปัจจัยเหล่านี้มาเป็นศูนย์กลาง (Decentering) ไม่เพิกเฉย หรือ การเก็บกดความจริงที่เกิดขึ้น แต่เป็นการหยุดความคิด อารมณ์ แล้วมองทุกสิ่งตามอย่างที่เป็น แล้วหาทางแก้ไข
การฝึกให้มีสติ หรือ การ "เพิ่มความไวด้วยการหยุด" จะช่วยสร้างทักษะสำคัญในด้าน “ความยืดหยุ่นในการตอบสนอง (response flexibility) ที่นักจิตวิทยาให้คำอธิบายไว้ว่า “ความสามารถในการหยุด ถอยออกจากสถานการณ์ เปลี่ยนมุมมอง และสร้างทางเลือก และเลือกแก้ไขอย่างชาญฉลาด เพียงเท่านี้ผลงานที่ดีก็จะเกิดขึ้นได้แล้วครับ
5. ปลูกฝังเรื่องความมีเมตตา Cultivate compassion.
ประเด็นนี้ มักถูกลืมไปจากการพัฒนาชุดทักษะของการมี resilience skillset
ความมีเมตตาที่ว่านี้ คือ การรู้จักที่จะเห็นอกเห็นใจทั้งตนเองและผู้อื่นด้วยครับ เพราะจะสร้างอารมณ์ด้านบวก บรรยากาศที่ดีต่อความสัมพันธ์ทั้งในเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ ความเข้าอกเข้าใจกัน และ ความร่วมมือประสานงานกัน (Cooperation & collaboration)
ดังนั้นหลายๆ องค์กรจึงพยายามส่งเสริมเรื่องนี้ ให้เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรด้วย
การสร้างทักษะ Resillience นั้น โดยรวมๆ ส่งผลดีต่อทั้งตัวพนักงานเองในแง่ของการสร้างภูมิคุ้มกันต่อความเครียดในงาน อีกทั้งองค์กรยังได้ผลลัพธ์ตอบแทนทางธุรกิจอย่างชัดเจนจากการดูแลพนักงานในด้านนี้ อย่างกรณีศึกษาของ บ. Price Water House (PwC)ในปี 2014 พบว่าโครงการสร้างสุขภาพใจและความคิดนั้น ให้ผลตอบแทนกลับมา ทั้งลดด้านต้นทุนการดูแลสุขภาพพนักงาน (health care) ลดอัตราการขาดงาน และ การลาออก แถมยังช่วยเพิ่ม productivity เพิ่มมากขึ้น
ทุกวันนี้ โลกของเราเริ่มวุ่นวายไปด้วย ความซับซ้อนและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทุกๆ วัน ถึงเวลาแล้วที่องค์กรควรหันมาใส่ใจการพัฒนาจิตใจของพนักงานและสร้างให้พวกเขามีทักษะของการล้มแล้วลุกได้ให้มากขึ้นครับ
บทความโดย
Aniruth Tulsuk (อนิรุทธิ์ ตุลสุข)
Sr. Consultant & Facilitator-CFG
M.A. Industial and Organizaional Psychology, Thammasat University
Former Learning & Development Manager, FMCG/Property
Interesting Areas:
Startup Business, Leadership Development, Behavioral Change,Trait & Personality, Visual Thinking
|